กองนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ ไตรมาสที่ 2/2565 ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบ เป็นปัจจัยสำคัญ
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
คาดการณ์ว่าจะหดตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากคาดว่าต้นทุนวัตถุดิบในไตรมาสที่ 2 ยังปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่มีแนวโน้มทรงตัวในไตรมาสที่ 3 ประกอบกับต้นทุนพลังงานและการขนส่งในไตรมาสที่ 2 ที่ยังมีแนวโน้มสูง ทำให้ราคาเหล็กในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง ผู้บริโภคจึงชะลอคำสั่งซื้อ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่ทำให้ราคาสินค้าเหล็กและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องเริ่มปรับตัวสูงขึ้นและต้นทุนเหล็กในประเทศจีนที่ต่ำกว่าประเทศไทย อาจทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กมากกว่าการซื้อในประเทศ
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
คาดว่าจะมีดัชนีผลผลิตและมูลค่าการส่งออกขยายตัวประมาณร้อยละ 3.0 และ10.0 ตามลำดับ เนื่องจากตลาดโลกยังคงต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การผลิตสินค้าสมัยใหม่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และการผลิตยานยนต์ไฟฟา เป็น้ตน รวมทั้งการขยายโครงข่ายและพัฒนาระบบเทคโนโลยี 5G ทำให้มีความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อุตสาหกรรมรถยนต์
ประมาณการในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 450,000 คัน โดยแบ่งเป็น การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 50-55 และการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 45-50
อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์
ประมาณการในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 จะมีการผลิตรถจักรยานยนต์กว่า 450,000 คันโดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 80-85 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 15-20
อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์
คาดว่า ผลิตภัณฑ์กระดาษที่ใช้ผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการบริโภคในประเทศ ขณะเดียวกันบรรจุภัณฑ์กระดาษจะได้อานิสงส์ตามการใช้งานสำหรับซื้อขายสินค้าออนไลน์ ในส่วนการส่งออกจะขยายตัวต่อเนื่องในกลุ่มเยื่อกระดาษ
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
จะขยายตัวเล็กน้อยจากอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าสำคัญอย่าง สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีนและยุโรป ที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตลอดโซ่อุปทาน ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศเริ่มกลับมาจากนโยบายการเปิดประเทศ แม้จะยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาค่าระวางเรือ รวมทั้งต้นทุนพลังงานที่ทำให้ราคาวัสดุ และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ
อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน
คาดว่า ปริมาณการผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้จะกลับมาขยายตัวจากการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดต่างประเทศเป็นหลัก ในส่วนของปริมาณการจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศ คาดว่าจะยังคงชะลอตัว ทางด้านการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากความต้องการของประเทศคู่ค้าสำคัญที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อุตสาหกรรมยา
คาดว่าปริมาณการผลิตและการจำหน่ายยาในประเทศ มีแนวโน้มขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามความต้องการใช้ยาเพื่อรักษาโรคที่เพิ่มขึ้น สำหรับการส่งออกคาดว่าจะมีแนวโน้มการขยายตัวที่ดีเช่นกัน โดยเฉพาะตลาดอาเซียน อาทิ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม
อุตสาหกรรมยาง และผลิตภัณฑ์ยาง
คาดว่า ปริมาณการผลิตยางแปรรูปขั้นปฐมจะกลับมาขยายตัวจากการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ในส่วนของปริมาณการผลิตยางรถยนต์คาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทางด้านปริมาณการผลิตถุงมือยางคาดการณ์ว่าจะขยายตัวจากการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในประเทศเป็นหลัก
อุตสาหกรรมอาหาร
คาดว่าดัชนีผลผลิตในภาพรวมและมูลค่าการส่งออกจะขยายตัวเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจและการค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการของรัฐ การมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศมากขึ้น และปัจจัยบวกจากเงินบาทอ่อนค่า ที่ส่งผลดีต่อการส่งออกอย่างไรก็ตาม ราคาวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอาหารและราคาพลังงานยังคงอยู่ในระดับสูงจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนภาคอุตสาหกรรมและกำลังซื้อของผู้บริโภค
ขอบคุณที่มา : MReport