ศ.ดร.ปฏิพัทธ์ ทวนทอง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นผู้แทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท อัลฟ่า โซลูชั่น จำกัด เพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์นำไปใช้ประกอบการเรียนการสอน งานวิจัยและพัฒนา และความร่วมมือกันทางวิชาการที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมและพัฒนาความสามารถในการใช้งานเครื่อง CNC และหุ่นยนต์อุตสาหกรรมของไทยให้มีความก้าวหน้าและผลักดันไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเป็นการตอบสนองตามนโยบายของรัฐบาล
นายฐิติศักดิ์ รื่นฤทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อัลฟ่า โซลูชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัทดำเนินธุรกิจกลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านซอฟต์แวร์สำหรับงานออกแบบและหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ที่มีความหลากหลาย อาทิ ซอฟต์แวร์สำหรับงานเขียนแบบ (CAD) ซอฟต์แวร์ช่วยในงานผลิตสำหรับเครื่อง CNC และ Robot (CAM Software for CNC & Robot) สำหรับงานตัด งานกัด งานกลึง งานเชื่อม ฯลฯ ซึ่งทางบริษัทพร้อมให้การสนับสนุนทรัพยากรที่ช่วยในการพัฒนากระบวนการเรียนการสอน การบริการวิชาการ และการวิจัยทางด้านซอฟต์แวร์จำลองการทำงานของหุ่นยนต์สำหรับช่วยในงานผลิต ให้กับหน่วยงานของมหาวิทยาลัยฯ โดยสนับสนุนลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ SprutCAM จำนวน 90 Licenses เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมการบริการวิชาการและการฝึกอบรมที่เป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีการจำลองการทำงานสำหรับช่วยในงานผลิตด้วยเครื่อง CNC และ Robot พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพัฒนาหลักสูตรและบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ที่สามารถบูรณาการกับภาคอุตสาหกรรมได้
ศ.ดร.ปฏิพัทธ์ ทวนทอง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มจพ. เปิดเผยว่า สำหรับลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ SprutCAM จำนวน 90 Licenses ที่มหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนนี้ ทางบริษัทได้สนับสนุนให้กับ 3 หน่วยงาน โดยมี ผศ.ดร.กัมปนาท ศิริเวทิน ประธานกรรมการศูนย์นวัตกรรมด้านการออกแบบและวิศวกรรมเพื่อการผลิต (CoI-DEM) เป็นผู้แทนสำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รองศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ สถิรยากร คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เป็นผู้แทนภาควิชาครุศาสตร์เครื่องกล คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม และรองศาสตราจารย์สถาพร ชาตาคม รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เป็นผู้แทนภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมเครื่องกล วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เข้าร่วมรับมอบลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในการลงนามครั้งนี้ด้วยแล้ว ซึ่งตนเชื่อมั่นว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยพัฒนากระบวนการเรียนการสอน การบริการวิชาการ และ การวิจัยทางด้านซอฟต์แวร์จำลองการทำงานของหุ่นยนต์สำหรับช่วยในงานผลิตของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และอุตสาหกรรมของไทยให้มีความก้าวหน้าและผลักดันไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้
ขอบคุณที่มาของข่าว
http://stri.kmutnb.ac.th/site/index.php/news/33-newspublic/437-10-04092019