คน-คอมพ์-หุ่นยนต์ หลอมรวมสู่เทคโนโลยียุคหลังโควิด

โควิด-19 ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมากให้กับโลกใบนี้เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD) เปิดวงเสวนา New World Paradigm Series#3 ในหัวข้อ “ไวรัสเปลี่ยนเทคโนโลยี”
“พัทน์ ภัทรนุธาพร” นักวิจัยจาก MIT Media Lab สถาบันเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก และ cofounder จาก FREAK Lab ประเทศไทย ได้ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ในยุคหลังโควิด-19 พร้อมย้ำว่าหากต้องการผลักดันให้เกิดสตาร์ตอัพหรือนักพัฒนาที่สามารถสร้างมูลค่าได้มากกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐ จำเป็นต้อง “มองไปไกลกว่าที่คนในปัจจุบันจะคาดหมายได้” นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นอาจไม่ตอบโจทย์ในปัจจุบัน แต่เป็นการพัฒนาสำหรับอนาคต เหมือนที่ก่อนหน้านี้งานวิจัยด้าน Touch screen ของ MIT เคยเป็นที่ขบขันของคนยุคก่อนหน้านี้ว่า เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่โง่เขลา

ที่ผ่านมา MIT Media Lab ได้มองไปที่การพัฒนาสร้างวัตถุใหม่ ๆ การอินเทอร์แอกต์ระหว่างหุ่นยนต์กับคนกับคอมพิวเตอร์ ทำให้คนกับเทคโนโลยีไหลรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน
“ที่น่าสนใจในยุคหลังโควิด คือผลกระทบจากการที่โลกไร้พรมแดน ทำให้โรคระบาดแพร่ไปทั่วโลกได้ เกิดเป็น rise & fall ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องคิดและหาเทคโนโลยีมาแก้ไข”
โดยเทคโนโลยีที่น่าจะมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกหลังโควิดคือ wearable technology, AI coversation agent และ e-Learning
“wearable technology จะทำให้เข้าถึง context ที่มาจากร่างกายคน และนำไปสู่การทำให้ชีวิตคนนั้นดีขึ้น เชื่อมให้คอมพิวเตอร์กับมนุษย์ ซึ่งเริ่มเห็นหลังเมื่อ 2 ปีก่อนคือมีการพัฒนา “certification” ที่อาศัยแพตเทิร์นของข้อมูลจากคนทั่วโลกเพื่อนำมาคาดการณ์การเกิดโรคระบาดได้”
แต่ในการออกแบบต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล เพราะข้อมูลที่นำมาใช้ประมวลผล เป็นข้อมูลที่่ออกมาจากร่างกายของมนุษย์แต่ละคน จึงอาจทำให้เกิดอันตรายได้หากข้อมูลนั้นเล็ดลอดออกไปสู่ภายนอก ฉะนั้นจะต้องทำให้ข้อมูลไม่สามารถระบุตัวตนได้
“ในอนาคตข้อมูลจาก wearable จะต้องมากไปกว่าแค่การเต้นของหัวใจ ชีพจร ตอนนี้กำลังพยายามทำให้เหมือนการนำห้องแล็บเข้าไปอยู่ในตัวคน ทำให้ข้อมูลชีวเคมีที่เกิดขึ้นในตัวคนถูกวิเคราะห์ได้อย่างเรียลไทม์ และยังใช้ Wearable device ช่วยในการแก้ปัญหาได้ เช่น โปรเจ็กต์ที่กำลังพัฒนาอยู่ wearable sanitizer การพัฒนาอุปกรณ์สวมใส่ที่สามารถยิงแอลกอฮอล์จากมือได้โดยใช้ข้อมูลจากเซ็นเซอร์ประมวลผลว่า ควรจะยิงแอลกอฮอล์เมื่อไร ได้แรงบันดาลใจมาจากสไปเดอร์แมน”
นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ข้อมูลที่เก็บจากร่างกายเพื่อนำไปสู่การดีไซน์แบบเฉพาะเจาะจงได้ อาทิ making food with the mind เครื่องสร้างทำอาหารด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่สร้างเมนูต่างๆ ได้ตรงความต้องการของผู้ใช้ ด้วยการอ่านค่าจากคลื่นสมองที่ส่งมาจาก wearable เป็นการแสดงศักยภาพของ IOT ที่เชื่อมจากคลื่นสมองที่สามารถสร้าง out put ได้
“AI conversation agent” เป็นอีกเทรนด์ที่กำลังมา เกิดการใช้ภาษาทำให้เกิดการเชื่อมต่อ อาทิ Buddha bot ที่นำข้อมูลจากพระไตรปิฎกเพื่อให้คนทั่วไปสามารถสนทนาธรรมกับพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นการทำให้ AI สามารถเชื่อมต่อกับวัฒนธรรม โดย 64% ของคนในสหรัฐใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อข้อมูลเกี่ยวกับศาสนา
ล่าสุดคือ COVID bot ที่พัฒนาเป็นภาษาไทยก่อน จนปัจจุบันใช้งานแล้วใน 56 ประเทศทั่วโลกตามดีมานด์ที่เกิดขึ้นมหาศาล ซึ่งบอตนอกจากจะให้คำแนะนำที่อยู่บนพื้นฐานของแพทย์และกรมควบคุมโรคยังสามารถติดตามข้อมูลสุขภาพเป็นรายคนได้