“ระบบอัตโนมัติ” กับการกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมการผลิต จะสร้างอนาคตได้อย่างไร

แม้การเปลี่ยนแปลงด้านอุตสาหกรรมของโลกจะพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด แต่สำหรับการเปลี่ยนแปลงด้านอุตสาหกรรมในประเทศไทย ปัจจุบันถือว่ามีแนวโน้มที่สูงขึ้น หลายอุตสาหกรรมมีการปรับตัว ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยี และ “ระบบอัตโนมัติ” เข้ามาปรับใช้ แต่ก็ยังมีสิ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยกังวลใจอยู่บ้าง นั่นก็คือ การ Disruption ของเทคโนโลยีเหล่านี้ ที่อาจเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ จนกลายเป็นต้นเหตุของวิกฤตแรงงานล้นตลาด นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมมองว่า อนาคตอันใกล้ “ระบบอัตโนมัติ” จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการวางระบบการทำงานในภาคอุตสาหกรรม แล้วเราเองจะมีวิธีการปรับตัวให้สามารถอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีได้อย่างไร

หลายอุตสาหกรรมมองว่าความสำคัญของระบบอัตโนมัติที่จะเข้ามาในอุตสาหกรรมการผลิต คือการเปลี่ยนแปลงที่จะช่วยให้พนักงานทำงานง่ายขึ้น พร้อมทักษะที่สามารถนำไปใช้ร่วมกับเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้ นี่จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่น่าสนใจและอาจจะเห็นการพัฒนาทักษะความรู้แขนงใหม่ เทคโนโลยี และวิวัฒนาการที่ทันสมัยของภาคอุตสาหกรรมการผลิตก็เป็นได้ ส่วนทิศทางของอุตสาหกรรม เมื่อถึงยุคที่ระบบอัตโนมัติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน จะเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด นักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการผลิตได้เผยแนวคิดไว้หลากหลายข้อมูล โดยการวิเคราะห์ล่าสุดเกี่ยวกับข้อมูลสำมะโนประชากรของสหราชอาณาจักรระบุว่า 17.5% ของบทบาททั้งหมดในอุตสาหกรรมการผลิตอาจเปลี่ยนเป็นแบบอัตโนมัติก่อนปี 2026 ในขณะที่ 7.8% มองว่าบทบาทจะถูกเสริมด้วยระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยี

เกิดการเรียนรู้ทักษะใหม่ และการปรับตัว (Retain, Retrain and Redeploy)

เมื่อกระบวนการทำงานเริ่มมีบทบาทใหม่ปรากฏขึ้น แน่นอนว่าการวางแผนการทำงานเชิงกลยุทธ์ด้วยการเสริมทักษะความรู้ ความสามารถ ที่นอกเหนือจากการทำงานโดยทั่วไป โดยฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องคำนึงว่าทักษะที่เราต้องการในกำลังคน กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนทักษะความรู้ความสามารถเดิมอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งการวางแผนการพัฒนากำลังคนเชิงกลยุทธ์ต้องพิจารณาการหลายองค์ประกอบ เช่น วิธีสร้างทักษะตามความต้องการภายในองค์กร การพัฒนาเนื้อหาให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีปัจจุบัน และต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนทักษะอย่างแท้จริง ดังนั้นพนักงานในองค์กรจำเป็นต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายนี้ โดยมองว่าการเรียนรู้เป็นสิ่งที่จะคงอยู่ตลอดไปในอาชีพการงาน ทั้งนายจ้างและพนังงานต่างต้องตระหนักด้วยว่าทักษะความรู้ความสามารถเพียงด้านเดียว อาจไม่สามารถปรับใช้กับการทำงานในอนาคตได้อีกต่อไป

แรงงานรุ่นใหม่ (The next generation)

นวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในอุตสาหกรรมการผลิตนั้น ทำให้ความต้องการแรงงานมีทักษะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงความต้องการแรงงานรุ่นใหม่ที่พร้อมจะพัฒนาทักษะ ให้มีความรู้ความสามารถเท่าทันเทคโนโลยี โดยนายจ้างต้องวางแผนแนะนำพนักงานในองค์กรเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะที่พวกเขาควรได้รับ เพื่อให้เขาสามารถทำงานในสายงานที่รับผิดชอบได้อย่างยั่งยืน

นักวิเคราะห์หลายท่านมองว่า ภาคการผลิตอาจมีบทบาทในการเปลี่ยนหรือเลือกผู้ที่เข้ามาทำงานในองค์กร เนื่องจากความต้องการและแนวโน้มเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่เพียงแต่ต้องการดึงดูดให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวกำหนดความสามารถของพนักงานในองค์กรให้พัฒนาตนเองเพื่ออยู่รอด โดยสองปีที่ผ่านมา หลักฐานที่บ่งชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัส โควิด 19 ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร การแก้ไขปัญหาเรื่องของแรงงานคน การนำเครื่องจักร และเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวเสริมให้สามารถทำงานได้คล่องตัวขึ้น

ระบบอัตโนมัติ และการเติบโตของอุตสาหกรรม (Automation and augmentation)

ในอีก 5 ปีข้างหน้า คาดการณ์ไว้ว่าอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ทำการผลิตสินค้าเป็นจำนวนน้อย อาจได้รับผลกระทบจากการใช้ระบบอัตโนมัติ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องหนัง อุตสาหกรรมด้านการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหาร และอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบในด้านการจ้างงานด้วยเช่นกัน เมื่อพิจารณาบทบาทการทำงานที่กว้างขึ้น และอาจถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติในอนาคต

ในทางกลับกันภาคอุตสาหกรรมการผลิตประเภทบรรจุภัณฑ์อาหาร เป็นกลุ่มงานที่มีความเกี่ยวข้องและจำเป็นกับระบบอัตโนมัติมากที่สุด นั่นหมายถึงพนักงานที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการเติบโตของเทคโนโลยีเมื่อนำระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยในการผลิต แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายการเปลี่ยนแปลงของหน่วยงานและเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น ที่จะเป็นปัจจัยในการกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงด้านการจ้างแรงงานคน

สำหรับการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมแรงงานคน สนับสนุนด้านไอที ทำให้สามารถพัฒนาซอฟต์แวร์และโปรแกรมอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ได้เป็นอย่างมาก เช่น โปรแกรมออกแบบทั่วไป ซอฟต์แวร์ช่วยวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ หรือใช้เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล โปรแกรมสร้างแบบจำลองทางสถิติ เป็นต้น

ดังนั้นการค้นพบโซลูชั่นใหม่ ๆ ที่มุ่งสู่ภาคการผลิตจะเป็นตัวกำหนดความสามารถของเทคโนโลยีในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและช่วยพัฒนาทักษะของแรงงานคนให้มีมูลค่าที่สูงขึ้นได้อีกด้วย

ผลกระทบระยะยาวในอุตสาหกรรมการผลิต (Long-term impact)

จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น คาดการณ์ว่าระบบอัตโนมัติจะเข้ามามีบทบาทต่ออุตสาหกรรมการผลิต โดยจะเพิ่มขึ้นจากเดิม 18% ภายในปี 2570 และ 34% ภายใน 2580 ดังนั้น จึงมีผลกระทบต่อทักษะความรู้และแรงงานในภาคอุตสาหกรรม การนำเทคโนโลยีมาใช้นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย และเทคโนโลยีบางส่วนอาจเข้ามามีบทบาทในการช่วยแรงงานคนให้สามารถทำงานได้สะดวก ลดระยะเวลาในการทำงานได้มากขึ้น”

เทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ยังต้องการบุคลากรจำนวนมากในการทำงานร่วมกันด้วยทักษะที่ทันสมัย สามารถบูรณาการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งหมายความว่าบทบาทในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาซอฟต์แวร์ วิศวกรรมข้อมูล และการพัฒนาแอปพลิเคชันยังคงเป็นที่ต้องการสูง

ประเด็นที่สำคัญ

แม้ว่าปัจจุบัน ผู้ผลิตจะยังคงเดินหน้ารับผลกระทบที่เกิดจากระบบอัตโนมัติ และในอีก 10 ปีข้างหน้า อัตราความต้องการของแรงงานทักษะจะเพิ่มขึ้นถึง 90% พนักงานเองก็จะสามารถทำงานควบคู่ไปกับการเรียนรู้เทคโนโลยี
ผู้ประกอบการควรพิจารณาในด้านการส่งเสริมทักษะให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการณ์ และเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การปรับตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อตั้งรับความท้าทายของนวัตกรรมและโอกาสที่จะมาถึง
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ผู้ประกอบการต้องมีแนวคิดที่มองไปข้างหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะหรือจุดบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อสงครามแย่งชิงแรงงานทักษะยังคงดำเนินต่อไป การสร้างทักษะ ความรู้ใหม่ให้กับพนักงานในองค์กร จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สำคัญ
การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถคงอยู่ต่อไปได้ เราจึงควรยอมรับการเปลี่ยนแปลงมากกว่าที่จะกลัว เพราะอนาคตของการทำงาน ยิ่งเราพัฒนาบทบาทของเราควบคู่ไปกับเทคโนโลยีได้ดีเท่าไร ก็จะยิ่งมีวิวัฒนาการในการทำงานมากขึ้นเท่านั้น

สุดท้าย การทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และความอัจฉริยะของระบบอัตโนมัติที่เพิ่มขึ้น จะนำไปสู่โซลูชั่นที่พัฒนาและทันสมัย การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นจะเป็นตัวกำหนดทิศทางการทำงานของแรงงานคน โดยผู้เขียนมองว่า ทิศทางการการทำงานเมื่อระบบอัตโนมัติเข้ามามีบทบาทในการผลิต สามารถสรุปได้ว่า

“เลือกที่จะเรียนรู้และปรับตัว” 

ภายใต้เทคโนโลยีอัจริยะและทันสมัย เบื้องหลังการควบคุมยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้แรงงานคนในการกำกับดูแล การพัฒนาตนเองให้มีทักษะมากขึ้นเทียบเท่าเทคโนโลยีจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรปฏิเสธ แต่ต้องเรียนรู้มันให้มากขึ้น 

“เพิ่มความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน” 

ภาคแรงงานต้องพยายามพัฒนาทักษะพิเศษของตนเองในด้านต่าง ๆ ออกไปด้วย ให้นอกเหนือจากความสามารถที่เทคโนโลยีทำได้ แบบนี้โอกาสที่เราจะอยู่รอดในทุกสาขาอาชีพก็จะมีสูงขึ้น ทักษะความรู้จึงเป็นสิ่งที่เทคโนโลยีไม่สามารถเอาชนะเราได้แบบ 100%

แม้ Automation จะเป็นเรื่องใหม่ที่คนในภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัว แต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวซะทีเดียว หากเราไม่หยุดที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ไม่ว่าผู้นำองค์กรหรือหน่วยงานจะตัดสินใจอย่างไร ถ้าหากเราคือคนที่ต้องการพัฒนาทักษะตัวเองเสมอ เทคโนโลยีเหล่านี้ก็ไม่สามารถลดทอนคุณค่าและมูลค่าได้แน่นอน  เวลาเท่านั้นที่จะบอกได้ว่าแรงงานคนจะปรับตัวอย่างไรกับระบบอัตโนมัติที่เพิ่มขึ้น และอนาคตอันใกล้นี้ เราคงได้เห็นมนุษย์และหุ่นยนต์ทำงานร่วมกันเพื่อนำเสนอโซลูชั่นที่ทันสมัยต่อไป


ขอบคุณที่มา : sumipol